top of page

[Review]Men Without Women : บุรุษผู้ไร้สตรี

Men Without Women – บุรุษผู้ไร้สตรี

ผลงานของ เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์

แปลโดย ณัฐชยา หิรัญญสมบัติ / ณฐพร เมฆสวัสดิ์ / ชัยวัฒน์ เพชรกุล / ลัลลดา พุทธรักษ์ / พัชร์พิชา ธนาเกษมพิพัฒน์ / สิริกาญจน์ บุญเอนกพัฒน์ / ภฤศ ปฐมทัศน์

 

เขามองตรงผ่านผมออกไปที่นอกหน้าต่าง จากนั้นเขาก็เริ่มร้องไห้ “ผมทำใจไม่ได้เลย” เขาพูดปนสะอื้น แล้วก็ร้องไห้ ขณะเงยหน้าขึ้นเหม่อมองไร้จุดหมาย ยืดตัวตรงแบบชายชาติทหาร โดยมีน้ำตาอาบอยู่ที่แก้มทั้งสองข้างและกัดริมฝีปากแน่น เขาเดินผ่านเครื่องบำบัดแล้วออกจากห้องไป

คืนนั้น คุณเดินเข้ามาในร้านดื่มแห่งหนึ่ง คุณกำลังจะเดินไปนั่งที่ตรงมุมปลายสุดของเคาน์เตอร์ไม้ แต่แล้วก็สังเกตเห็นว่ามีชายแก่หนวดเคราเฟิ้มคนหนึ่งนั่งอยู่ก่อนแล้ว คุณยิ้มให้เขาและตัดสินใจนั่งเก้าอี้สตูลถัดจากเขามาสองตัว คุณลองไวน์แดงของที่นี่หรือยัง ชายแก่เอ่ยถามคุณ คุณสับสนแต่ก็ส่ายหน้าเบาๆ แทนคำตอบ ขอไวน์แดงให้พวกเรา ชายแก่เอ่ยกับบาร์เทนเดอร์ ขอบคุณ คุณบอกกับชายแก่ ไม่เป็นไร ผมมีเรื่องจะเล่าให้คุณฟัง แล้วชายแก่ก็เริ่มเล่าเรื่องต่างๆ ให้คุณฟัง

“เมืองนี้มีแต่ไอ้แสนรู้” แม็กซ์ว่า

“บุรุษผู้ไร้สตรี” เป็นชุดรวมเรื่องสั้นของนักเขียนชาวอเมริกัน เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1899-1961 เฮมิงเวย์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางย่านโอ๊กปาร์ก รัฐอิลลินอยส์ เขาได้เข้ามาเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับบาดเจ็บและกลับมาอเมริกา จากนั้นจึงได้ย้ายมาปารีสและทำงานเป็นนักข่าว เฮมิงเวย์หลงใหลในเรื่องของสงคราม การสู้วัวกระทิง กีฬา และความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง โดยธีมเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น 14 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งได้แก่ ไม่มีวันแพ้ (The Undefeated), ในอีกประเทศหนึ่ง (In Another Country), เนินเขาที่ดูคล้ายช้างเผือก (Hills Like White Elephants), สองนักฆ่า (The Killers), เรื่องเล่าจากบ้านหลังเก่า? (Che Ti Dice La Patria?), ห้าหมื่น (Fifty Grand), การสอบสวนอันเรียบง่าย (A Simple Enquiry), อินเดียนแดงทั้งสิบ (Ten Indians), นกคีรีบูนแด่ใครคนหนึ่ง (A Canary for One), ความสุขสงบ ณ ชนบทเทือกเขาแอลป์ (An Alpine Idyll), การแข่งขันแห่งชีวิต (Pursuit Race), วันนี้วันศุกร์ (Today is Friday), เรื่องซ้ำซาก (Banal Story), และ แล้วผมก็เอนกายลง (Now I Lay Me)

“มันน่ะโง่จะตาย” อัลว่า เขาหันไปหานิค “แกชื่ออะไร”

เรื่องสั้นชุดนี้ของเฮมิงเวย์เป็นเหมือนกับตัวแทนผลงานบางส่วนของเขา ไม่ว่าคุณจะเป็นนักอ่านรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับผลงานของนักเขียนผู้นี้มาบ้างแล้ว หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้จักเขามากยิ่งขึ้น “บุรุษผู้ไร้สตรี” รวบรวมเรื่องราวของผู้ชายที่ปราศจากผู้หญิงข้างกาย ไม่ว่าจะเป็นมาทาดอร์ผู้ไม่มีวันแพ้หรือเด็กหนุ่มผู้โดนคนรักหักหลัง พวกเขาล้วนเป็นบุรุษผู้ไร้สตรี โดยแต่ละเรื่องจะมีบริบทที่แตกต่างกันไป สอดแทรกประเด็นที่สำคัญในยุคนั้น ด้วยสำนวนที่สั้นกระชับตามฉบับเฮมิงเวย์

 

โปรยย่อของเรื่องสั้นทั้ง 14 เรื่องโดยสังเขป

  1. “ไม่มีวันแพ้” มาทาดอร์ผู้ไม่ยอมร่ำลาจากวงการนักสู้วัวกระทิง

  2. “ในอีกประเทศหนึ่ง” พันตรีผู้มีชีวิตอยู่หลังสงครามกับความทรงจำที่เจ็บปวด

  3. “เนินเขาที่ดูคล้ายช้างเผือก” คู่รักกับการตัดสินใจบางอย่างที่อาจเปลี่ยนแปลงบางสิ่งไปตลอดกาล

  4. “สองนักฆ่า” สองนักฆ่าในห้องอาหารกลางวันและนิค อดัมส์

  5. “เรื่องเล่าจากบ้านหลังเก่า?” การเดินทางด้วยกันของชายสองคน

  6. “ห้าหมื่น” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายเพื่อเงินที่อาจไม่ได้แลกมาด้วยชัยชนะ

  7. “การสอบสวนอันเรียบง่าย” ผู้พัน ทหารเลขา และทหารรับใช้

  8. “อินเดียนแดงทั้งสิบ” นิค อดัมส์ กับความจริงที่แสนเจ็บปวด

  9. “นกคีรีบูนแด่ใครคนหนึ่ง” สตรีอเมริกันกับสามีที่ประเสริฐที่สุด

  10. “ความสุขสงบ ณ ชนบทเทือกเขาแอลป์” ชาวนากับศพเมียที่รัก

  11. “การแข่งขันแห่งชีวิต” วิลเลียม แคมป์เบลล์ นักแข่งจักรยานแบบเพอร์ซูทและผ้าปูที่รัก

  12. “วันนี้วันศุกร์” ทหารโรมันสามนายและพ่อค้าไวน์

  13. “เรื่องซ้ำซาก” ตอนจบของมาทาดอร์ผู้ไม่มีวันแพ้ และ

  14. “แล้วผมก็เอนกายลง” ซินญอร์ เตเนนเต กับการตัดสินใจเรื่องการแต่งงาน

“แล้วหลังจากนั้นเราจะทำอะไร?”

หลังจากนั้นเราก็จะสบายๆ อย่างที่เราเคยเป็นมาไง”

ใกล้สว่างแล้ว ชายแก่บอกให้คุณกลับบ้านไปนอน คุณบอกลาเขาและเดินออกมา คุณมึนๆ แต่ก็ยังพอมีสติบ้าง คุณนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ชายแก่เล่าให้ฟัง บางเรื่องก็แสนตื่นเต้น บ้างก็แสนเศร้า และบางทีก็แสนจะธรรมดา แต่ทำไมคุณถึงรู้สึกพิศวงกับเรื่องราวเหล่านี้นัก เรื่องราวที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ห่างไกล ในช่วงเวลาที่คุณไม่คุ้นเคย

“ฉันรู้สึกสบายดี” เธอพูด “ไม่มีอะไร ฉันสบายดี”

หรือบางที ภายใต้การเล่าเรื่องอย่างเรียบๆ เรื่อยๆ ของชายแก่ อาจมีบางสิ่งที่สำคัญซ่อนอยู่

คุณคิด คิด และคิด...

แท็ก:

Comments


bottom of page