top of page

[Review]HIM...ร้ายนักก็รักได้ & HER...ถึงร้ายก็รัก

 

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

ถูกกล่าวไว้ในตำราพิชัยยุทธ

 

ผมมองว่าในเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ โอเค มันไม่ใช่สนามรบ แต่มันมีการดิ้นรนต่อสู้แฝงอยู่ในนั้นอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย ดังนั้นถ้าจะยกประโยคนี้จากตำราพิชัยยุทธมาใช้ในเรื่องของความรัก ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ผิดเท่าไรนัก

ดังนั้นเมื่อเราจะลงสนามความรัก การรู้จักเขา เข้าใจความต้องการของตัวเราก่อน น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด สารพัดสารพันหนังสือแนว how to ไขกุญแจสู่หัวใจเขา เปิดประตูเข้าสู่หัวใจเธอ เป็นตัวเลือกแรกๆเสมอที่เรามักจะใช้กัน สำหรับนักรักมือใหม่ผู้เริ่มลงสู่สนาม

ด้วยเหตุนี้ มุมหนังสือ self help , how to , he thinks , shw though ทำนองนี้จึงค่อยๆเติบโตขึ้น จากแค่วางแอบๆไว้บางส่วนของชั้น กลายมาเป็นยึดทั้งชั้น จนปัจจุบันในทุกร้านหนังสือ แทบจะอุทิศมุมมุมหนึ่งของร้านจัดนิทรรศการหนังสือประเภทนี้ไว้เลยก็มี

แต่คำถามคือ หนังสือเหล่านี้ ช่วยเราให้เข้าใจได้จริงไหม?

หนังสือ “Him ร้ายนักก็รักได้” และ “Her ถึงร้ายก็รัก” โดย เปมี่ และ นายอบเชยตามลำดับ (เฮ่อ... เข้ามาเรื่องหนังสือเสียที หลังจากปูอารัมภบทยาวมาก) เป็นหนังสือที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ สำหรับกลุ่มผู้อ่านที่เป็น “มือใหม่” ย้ำอีกที “มือใหม่” ต้องย้ำอีกรอบว่า “มือใหม่” จริงๆ ที่เริ่มต้นเข้ามาสู่สนามความรัก

ตัวโปรเจคการเขียนหนังสือเซ็ทนี้ มีความพยายามที่จะแตกต่างจากเล่มอื่นๆในตลาดโดยการสร้างเอกลักษณ์การขายคือ ทำเป็นสองเล่มคู่กันฟากชายและฟากหญิง มีการรับส่งลูกในเนื้อหาแต่ละบท อ่านสนุกถ้าอ่านทั้งสองเล่ม ไอเดียนี้ดี เก๋ แต่ไม่นับว่าแปลกใหม่ เพราะในอดีต เคยมีหนังสือ “ไม่ร้ายไม่ใช่หญิง” และ “ไม่แน่จริงไม่ใช่ชาย” เขียนโดย ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ และ วัชระ ปานเอี่ยม มาก่อนแล้ว

ถือว่าเป็นความพยายามทางการทำตลาดหนังสือที่ดี และน่าเอาอย่าง คือทำมาแล้วถ้าขายได้เล่มหนึ่ง คนอ่านแล้วติดใจ อีกเล่มจะขายได้ไปโดยปริยายแน่นอน เยี่ยมดี ตรงความพยายามจุดนี้ถือว่าผ่าน

ความพยายามที่สองถัดมาคือ พยายามฉีกตัวเองออกจากภาพหนังสือ how to หญิงชายทั่วไป เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของจิตวิทยาเป็นหลัก เพื่อสร้างชั้นเชิงทางเนื้อหา ออกแนวว่า เราเหนือกว่านะ มีการค้นคว้านะ และมีหลักการมาอ้างอิงด้วย

ตรงจุดนี้ล่ะ ที่พลัดตกหกหล่น หลงทางไปไกล อย่างน่าเสียดาย ...

การดำเนินเนื้อหาของทั้งสองเล่มเหมือนจะสะเปะสะปะ และแหว่งวิ่น เมื่อเทียบกับคำนำของหนังสือที่ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า นี่คือความ “จิตวิทยา” แต่เอาเข้าจริงแล้ว เนื้อหา(ที่สำคัญกว่าคำนำสวยๆ) ไม่สามารถนำพาหนังสือถีบตัวออกมาจากกระแส how to ง่ายๆ self help ทั่วๆไปได้เลย ทั้งๆที่ต้นเล่ม คนเขียนเหนื่อยเขียนคำนำอย่างวิจิตร ออกตัวว่าเป็นหนังสือในแนวจิตวิทยา แต่สุดท้ายก็หาได้เหนือกว่าหนังสือเล่มอื่นๆที่เป็น self help how to ที่วางอยู่ข้างๆกันบนแผงสักนิด

หนังสือไม่ได้นำเสนอจิตวิทยา เลย ...

และไม่ได้นำเสนอสิ่งแปลกใหม่อะไรเลย

ทุกเนื้อหาล้วนเป็นสิ่งเดิมๆ ความเข้าใจเดิมๆ ที่ทุกคนสามารถหาอ่านได้จาก free online article ทั่วไป ลองเปิด google แล้วหาดูนะ เนื้อหาจัดว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ได้เป็นการ “รวบรวม” “วิเคราะห์” “สังเคราะห์” หรือแม้แต่ “อ้างอิง” ข้อมูลที่พอจะน่าเชื่อถือ หรือทำให้ดูเป็น “จิตวิทยา” มากกว่านี้

เนื้อหาในสองเล่ม ทั้งหมดทั้งปวงคือการเล่าผ่านความเข้าใจ ที่ถักทอร้อยเรียงมาจากประสบการณ์ ทั้งที่จริงๆแล้วข้อมูลเชิงนี้ ที่เป็น fee online access มีมากมาย จะงานวิจัย metanalysis จุดนี้ หากคนเขียนทำการบ้านเพิ่มหาอ่านเยอะหน่อย แล้วมีการอ้างอิงบ้าง จะทำให้ดูเป็นจิตวิทยา มากขึ้นกว่านี้

มองให้เป็นข้อบกพร่องก็น่าจะได้

แต่มองให้เป็นข้อดี ก็นับได้ว่าเด่นเช่นกัน

ผมว่าจริงๆ หนังสือคู่นี้ ก็เหมาะนะสำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มลงมาสู่สนามความรัก ผมนึกภาพเด็กวัย 10 ต้นๆ จนกระทั่งถึง 16 17 มาอ่านแล้วต้องชอบแน่ๆ อย่างน้อยก็ด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเล่มอื่นๆ และแม้จะนำเสนอเรื่องราวแบบเดียวกัน แต่วิธีการบอกเล่าสอนในแบบที่ใช้ภาษาที่เป็นกันเอง เข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย

สำหรับผมแล้ว ภาพของหนังสือสองเล่มนี้ก็จะคล้ายๆ เจ้ๆ เฮียๆ ที่แก่กว่าเด็กเหล่านี้นิดหน่อย เข้าใจสังคมมากกว่าเด็กๆ 1 ขั้น แต่เพราะความห่วงใย และใส่ใจ ก็เลยย่อยสังคมอันสับสน ตัดทิ้งส่วนที่ซับซ้อน ให้เหลือเฉพาะส่วนที่วัยรุ่นเข้าใจง่ายๆ แล้วมาเล่าให้ฟัง

ภาพรวม แม้หนังสือสองเล่มนี้จะสอบตกในการถึบตัวออกจากกระแส how to มุ่งสู่ความเป็นจิตวิทยา แต่ผมก็มองว่ามันเป็นสิ่งดี ดีที่นักเขียนบ้านเราเริ่มที่จะฉีกตัวเองออกจากกระแส พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ที่แตกต่าง และมีความคิดริเร่ิมที่ดี เหมาะสำหรับวัยรุ่นตอนต้นๆจะอ่านเล่นก่อนนอน หรืออ่านระหว่างรอรถไฟฟ้า เพื่อความเพลิดเพลิน

แต่สำหรับของจริงชีวิตจริง

มันซับซ้อนกว่านี้เยอะมาก

Comments


bottom of page