“Six degrees of Separation”
เราจะรู้จักคนทุกคนทั้งโลกเพียง 6 ช่วงความสัมพันธ์
เคยได้ยินเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ไหมครับ ที่ว่าเราสามารถรู้จักคนทั้งโลกผ่านคน 6 คนเท่านั้น เราอาจจะรู้จักกับประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เพราะว่าทรัมป์รู้จักกับภารโรงทำเนียบขาว ภารโรงคนนั้นรู้จักกับคนขับแท็กซี่ ซึ่งบังเอิญเคยรับผู้โดยสารชาวไทยคนหนึ่ง และชาวไทยคนนั้นก็เป็นนักเขียนที่เราเคยไปขอลายเซ็น
หลังจากอ่านนิยายเรื่อง "ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ" จบ ผมก็นึกขึ้นได้ถึงทฤษฎีนี้
"ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ" เป็นผลงานการเขียนของฮิงาชิโนะ เคโงะ สุดยอดนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน-ลึกลับของญี่ปุ่น อันที่จริง เคโงะไม่ได้เขียนแนวลึกลับหรือ Mystery บ่อยมากนัก และถ้าจะนิยามหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นแนว Mystery มันก็ไม่ถูกต้องอยู่ดี เพราะความรู้สึกของคนอ่านมักจะคิดว่าหนังสือนิยายแนวนี้จะต้องลึกลับ น่ากลัว
แต่ไม่เลย นิยายเล่มนี้กลับโรแมนติก และอบอุ่น
ถ้าจะเรียกให้ถูก ผมอยากจะเรียกมันว่า Romantic-Drama Mystery เสียมากกว่า
เรื่องราวในหนังสือพูดถึงร้านชำแห่งหนึ่งที่เปิดรับปรึกษาปัญหาชีวิต โดยให้เขียนจดหมายเล่าปัญหาส่งผ่านมาทางช่องไปรษณีย์หน้าร้าน แล้วจึงมาคอยรับคำตอบจากเจ้าของร้านผ่านกล่องรับส่งนมที่หลังร้าน
เริ่มต้นเรื่องเล่าผ่านหัวขโมยสามคนที่เข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในร้านชำร้าง แล้วบังเอิญในตอนนั้นมีจดหมายลึกลับสอดลอดผ่านช่องประตูเข้ามา ดูเหมือนว่าจะมีคนเขียนเล่าปัญหาชีวิตและขอคำแนะนำจากเจ้าของร้านชำ
ปัญหาก็คือ เจ้าของร้านชำแห่งนี้จากโลกนี้ไปหลายสิบปีแล้ว
หัวขโมยทั้งสามจึงสวมรอย เขียนคำตอบให้แทน แต่ทันทีที่นำจดหมายตอบไปไว้ในกล่องนม จดหมายก็หายวัยไป ก่อนจะมีจดหมายฉบับใหม่ส่งผ่านมา (โดยไม่เห็นตัวผู้ส่ง) และปรากฏว่า จดหมายที่ว่านั้นถูกส่งมาจากอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ ถึงเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของเคโงะ
นิยายเล่มนี้มีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 5 องค์ แต่ละองค์นั้นเล่าผ่านคนละช่วงเวลา โดยเริ่มเล่าจากมุมมองของหัวขโมยสามคน ก่อนจะย้อนเวลากลับไปเล่าถึงคนที่เคยใช้บริการปรึกษาปัญหาชีวิต แล้วเล่าย้อนไปอีกในมุมมองของครอบครัวนามิยะ--เจ้าของร้านชำเอง
ในองค์สุดท้าย เนื้อเรื่องกลับมาบรรจบเรื่องราวในช่วงเวลาปัจจุบัน โดยเล่าผ่านมุมมองของหัวขโมยทั้งสามอีกครั้ง ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นเหมือนดั่งเชือกที่ถูกผูกเป็นวงกลม หัวและหางของเชือกกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง
ในช่วงบทแรก เราพบเจอแต่ปัญหาและข้อสงสัย
ในบทสุดท้าย เราถึงกับคลายใจ และยิ้มออก
การเล่าเรื่องแบบวงกลมเช่นนี้ มันพิเศษ และทำให้เนื้อเรื่องมีความกลมกล่อมเป็นอย่างมาก
เพราะถึงแม้แต่ละองค์จะเล่าผ่านคนละมุมมอง ผ่านปัญหาของตัวละครคนละเส้นทางกัน แต่ในทุกเหตุการณ์กลับเชื่อมโยงกันเหมือนถูกโยงไว้โดยเชือกบาง ๆ เส้นหนึ่ง
ลึกลับ น่าฉงน แต่กลับโรแมนติกอย่างเหลือเชื่อ
เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงองค์สุดท้าย ผมกลับพบว่า นิยายเรื่องนี้กลับไม่ใช่นิยายลึกลับดังที่สำนักพิมพ์เขียนไว้ในคำนำ แต่มันคือนิยายโรแมนติกต่างหาก
เรื่องราวทั้ง 5 เส้นเรื่องที่ถูกเล่าในหนังสือ มักจะมีความเกี่ยวโยงกับสถานที่สองแห่งเสมอ
หนึ่ง คือ ร้านชำนามิยะ
สอง คือ สถานสงเคราะห์มารุมิตสึเอ็น
สองสถานที่นี้เป็นตัวแทนของคนสองคน
มันเป็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังของคนสองคน
แต่กลับยิ่งใหญ่เหนือความรักใด ๆ
ย้อนกลับมายังข้อความที่ผมเอ่ยทิ้งไว้ในตอนต้น
"เราจะรู้จักคนทุกคนทั้งโลกเพียง 6 ช่วงความสัมพันธ์"
ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ชีวิตของพวกเราแต่ละคนนั้นเหมือนเชือกบาง ๆ เส้นเล็กที่ถูกขึงตึงเอาไว้ไม่ทับกัน แต่มันจะยังมีเชือกเส้นใหญ่เส้นหนึ่งที่ผูกรั้งพวกเราเข้าด้วยกันเสมอ
การดำเนินชีวิตของคนหนึ่ง อาจจะส่งผลกับวิถีชีวิตของอีกคนหนึ่ง
ดูเหมือนว่า พวกเราต่างก็ไม่ใช่คนแปลกหน้ากันเสียทีเดียว
เราอาจจะเป็นเพื่อนกัน ผ่านพนักงานเซเว่นหน้าหมู่บ้าน
เราอาจจะเป็นพี่น้องกัน ผ่านโบสถ์ที่เดินเข้าทุกสุดสัปดาห์
เราอาจจะเป็นแค่คนรู้จักกัน ผ่านร้านขายของชำร้านหนึ่ง
เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมตระหนักได้เกี่ยวกับการเปิดรับปรึกษาปัญหาชีวิตของร้านชำนามิยะ คือ เรื่องของการ "มอง" ตัวเอง เราไม่สามารถมองเห็นตัวเราเองได้ด้วยสายตาเรา (แน่ล่ะว่าห้ามส่องกระจกนะ) แต่เรากลับมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนผ่านสายตาคนอื่น
ในการตัดสินใจปัญหาชีวิตก็เช่นกัน
บางครั้งเราก็ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยมุมมองของตัวเอง เพราะมันทั้งมืดบอดและเต็มไปด้วยอคติ
ด้วยเหตุนั้น บางครั้งคำตอบที่ดีที่สุดก็อาจจะมาจากคนที่รู้จักเราน้อยที่สุดก็เป็นได้
ใครสนใจอ่านนิยายเรื่องนี้ สั่งซื้อได้ที่ : paperyard.co/product-page/9786162872600
Comments