มาตรฐานค่าเฉลี่ยความเร็วในการอ่านหนังสือของคนทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 280-350 คำต่อนาที และสำหรับคนที่อ่านหนังสือเร็ว หรือช้วิธีอ่านผ่าน ๆ ก็มีความเร็วไม่เกิน 680-700 คำต่อนาที
.
แต่จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา มีความเร็วในการอ่านหนังสือ 1,200 คำต่อนาที มากกว่าคนปกติ 4 เท่า ซึ่งความเร็วนี้เทียบเท่าความเร็วเฉลี่ยของผู้เข้าแข่งขันอ่านเร็วชิงแชมป์โลกที่อยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 คำต่อนาทีเลยทีเดียว
.
ตัวเลขนี้บอกอะไร?
ถ้าถามว่าเคนเนดี้เป็นคนยังไง คนภายนอกก็จะมองว่าเขาเป็นหนุ่มพราวเสน่ห์ เฉลียวฉลาด ความจำดีเลิศ และสุนทรพจน์ของเขาก็ดีเยี่ยม เขาไม่เคยปล่อยให้เวลาสูญเปล่า และในช่วงเวลาที่คุณคิดว่าไม่น่าจะมีเวลาอ่านหนังสือ
เวลานั้น เคนเคนดี้จะอ่าน
________________________
.
เคนเนดี้เกิดในตระกูลร่ำรวยครอบครัวทางการเมืองในบรุกไลน์ ทางตะวันออกของบอสตัน รัฐแมสซาชูเซต เขาเป็นบุตรคนที่สองของโจเซฟ พี. เคนเนดี ซีเนียร์ กับ โรส ฟิตซ์เจอรัลด์
.
ในวัยเด็ก เคนเนดี้เป็นเด็กที่สุขภาพไม่ดีเท่าไหร่นัก ร่างกายตัวเล็ก ผอมแห้ง นอนป่วยติดเตียงอยู่ในโรงพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ตัวของเด็กชายเคนเนดี้แทบจะหายไปหลังหนังสือเล่มใหญ่ที่เขาอ่านบนเตียงนั้น
.
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กจะเหมือนการกลั่นแกล้งจากพระเจ้า แต่เขาก็สามารถรอดพ้นช่วงเวลามืดมนเหล่านี้มาได้โดยมีหนังสือเป็นเพื่อน
.
อันที่จริง หนังสือที่เคนเนดี้อ่านนั้นค่อนข้างจะโตเกินวัยไปเสียหน่อยจากคำกล่าวของเพื่อนของโจเซฟ พี. เคนเนดี--พ่อของเขา ที่พบเห็นเคนเนดี้ที่ Mayo Clinic ในปี 1934 กล่าว
ในตอนนั้น เคนเนดี้ในวัย 17 ปีกำลังเริ่มอ่าน 'The World Crisis' โดยวินสตัน เชอร์ชิลล์ ซึ่งเขาแทบจะอ่านหนังสือทุกเล่มที่เชอร์ชิลล์เขียนด้วยซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบุรุษของอังกฤษผู้นี้จะเป็นไอดอลของเคนเนดี้ในวัยหนุ่ม
.
หนังสือของเชอร์ชิลล์ที่เคนเนดี้ชื่นชอบมากที่สุด โดยเขาเคยเปิดเผยกับนิตยสาร Life ปี 1961 ก็คือเรื่อง "Marlborough" ชีวประวัติของจอห์น เชอร์ชิลล์ ดยุกคนแรกแห่งมาร์ลโบโรห์--บรรพบุรุษของวินสตัน เชอร์ชิลล์
.
โดยตัวของเคนเนดี้นั้นรู้สึกตื่นเต้นกับการบรรยายถึงชัยชนะทางการทหารมากมายของจอห์น เชอร์ชิลล์ (วีรกรรมที่สำคัญที่สุดคือ สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน) มันแสดงให้เห็นถึงนิสัยของผู้ชนะที่ซ่อนอยู่ในตัวเคนเนดี้
เขาไม่เคยเข้าร่วมสมรภูมิ หรือไปปิดล้อมป้อมปราการใด
แต่เขาก็ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะ
.
.
เมื่อโตขึ้นมาหน่อย หนังสืออีกเล่มที่เคนเนดี้ชอบพูดถึงก็คือเรื่อง “Pilgrim's Way” อัตชีวประวัติของจอห์น บูชาน--ขุนนางอังกฤษซึ่งเคยรับใช้ชาติในสงครามบูร์และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแคนาดา
หนึ่งสือเล่มนี้ตีพิมพ์หลังจากบูชานถึงแก่อสัญกรรมปี 1940
ในหนังสือเล่มนี้บูชานได้กล่าวชื่นชมบุคคลหนึ่ง ซึ่งก็คือ เรย์มอนด์ แอสควิธ--บุตรชายของเฮอเบิร์ต แฮร์รี่ แอสควิธ--นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ ขณะนั้น ซึ่งตัวเรย์มอน แอสควิธได้เสียชีวิตในยุทธการที่แม่น้ำซอมในปี 1916
บูชานรู้จักแอสควิธในโรงเรียน และได้เขียนคำร้อยแก้วเป็นคำอุทิศให้แก่สหายร่วมสงครามว่า
.
"เขารักความเยาว์วัยของเขา และความเยาว์วัยของเขากลายเป็นนิรันดร์ เขาเป็นคนที่มีเสน่ก์ ฉลาดเฉลียว และกล้าหาญ ตอนนี้เขาเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษอันอยู่ยั้งยืนยง ที่ไม่รู้จักอายุขัย หรือความเหนื่อยล้า หรือความพ่ายแพ้”
.
ข้อความข้างต้นนี้ เป็นข้อความที่เคนเนดี้ขีดเน้นเอาไว้ในหนังสือของตัวเอง โดยเขาคงรู้สึกว่าตนเองนั้นเหมือนเรย์มอนด์ แอสควิธ
.
เรื่องน่าสนใจก็คือ เคนเนดี้มอบหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญให้แก่แจ็กเกอลีน บูเวียร์ ว่าที่ภรรยาและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในอนาคต ในตอนที่เขาเริ่มจีบเธอใหม่ ๆ เพื่ออธิบายให้เธอฟังว่าเขาเป็นคนแบบไหน
อันที่จริง ใครก็ตามที่เคนเนดี้หวังว่าจะเข้าใจเขา เขาจะกระตุ้นให้อ่านหนังสือเล่มนี้
.
.
แจ็กเกอลีนเคยให้สัมภาษณ์ถึงนิสัยการอ่านของเคนเนดี้ไว้ว่า
"เขา (เคนนดี้) อ่านทุกครั้งที่คุณไม่คิดว่าคุณมีเวลาอ่านจริงๆ"
"เขาอ่านด้วยวิธีที่แปลกที่สุด ฉันหมายความว่า ฉันไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เว้นแต่ฉันจะมีช่วงบ่ายที่ฝนตก หรือตอนเย็นที่ยาวนานบนเตียง หรืออะไรทำนองนั้น
"แต่เขา (เคนเนดี้) อ่านหนังสือทั้งตอนเดิน อ่านหนังสือที่โต๊ะ ตอนทานอาหาร อ่านหนังสือหลังอาหารเย็น อ่านหนังสือในอ่างอาบน้ํา เขาอ่านหนังสือเสมอ – พับหนังสือที่อ่านยังไม่จบไว้บนโต๊ะ – ในสำนักงาน – ขณะที่ เขากำลังผูกเน็คไทของตัวเอง”
.
นั่นทำให้สุนทรพจน์ของเคนเนดี้มักจะยอมเยี่ยมอยู่เสมอ เขามักดึงประโยคหรือคำพูดคมคายมาจากในหนังสือที่ตนเองอ่าน และอาจจะอ่านออกเสียงออกมาให้คุณฟังในคืนหนึ่ง ถ้าเขาสนใจ
.
เคนเนดี้นั้นเป็นคนที่มีความจำที่ดีเยี่ยมและน่าปวดหัวในเวลาเดียวกัน เขาจะจำได้ทุกประโยค ทุกคำที่เขาชอบและสนใจ แต่เขามักจำไม่ได้ว่า คำพูดเหล่านั้นเขาหยิบยืมมาจากหนังสือเล่มใด
_______________________________
[ความเร็วเป็นของปีศาจ]
.
ความเร็วในการอ่าน 1,200 คำต่อนาทีไม่ใช่โชคช่วยหรือพรสวรรค์แต่กำเนิด แต่เป็นความตั้งใจของตัวเคนเนดีเองที่จะฝึกฝนทักษะนี้ในช่วงเริ่มเล่นการเมือง
.
เคนเนดีเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการอ่านในการเป็นนักการเมือง สำหรับการซึมซับเนื้อหาที่สำคัญ เมื่อเขาก้าวจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สู่สถานะของวุฒิสมาชิก และหวังว่าจะเป็นประธานาธิบดีในอนาคต
เขารู้ว่าปริมาณเนื้อหาที่เขาจะต้องอ่านและทำความเข้าใจจะต้องมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นเขาและน้องชายจึงเรียนหลักสูตรการอ่านเร็วในปี 1954
.
ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1954 เคนเนกีและบ๊อบบี้--น้องชายได้เดินทางไปบัลติมอเพื่อเข้าเรียนในชั้นเรียนการอ่านเร็วที่วิทยาลัยภาคค่ำของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์
.
ศาสตราจารย์เอลตัน วาย. เมียร์สสอนในชั้นเรียนเรื่อง “วิธีอ่านให้ดีขึ้นและเร็วขึ้น” พบกันในเย็นวันอังคาร เวลา 8.30 – 10.30 น. และสองพี่น้องเคนเนดีต้องขับรถไปคนละชั่วโมงกว่าจะถึงห้องเรียน
.
ทั้งสองคนใช้เวลาฝึกฝนนานอยู่หลายสัปดาห์จนสามารถอ่านเอกสาร หนังสือ หรือเนื้อหาใด ๆ ได้ด้วยความรวดเร็ว
.
หลังจากที่เคนนาดีประสบความสำเร็จ ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการเมืองแล้ว ประธานาธิบดีเคนเนดีกลายเป็นผู้สนับสนุนการอ่านเร็วอย่างแรงหลังจากเรียนหลักสูตรการอ่านเร็ว
ในฐานะประธานาธิบดี เขาสนับสนุนให้หลายคนในคณะรัฐมนตรีของเขาเรียนหลักสูตรที่คล้ายคลึงกันนี้ และช่วยให้การอ่านเร็วเป็นที่นิยมทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960-70
_______________________________
[เคนเนดี้ไม่ได้อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน]
.
ถ้าหากใครสนใจและอยากอ่านหนังสือตามเคนเนดี้ล่ะก็ สามารถเข้าไปดูได้ที่ห้องสมุดเจเอฟเค เพื่อพบว่า รายการหนังสือของเคนเนดี้นั้นแทบจะไม่มีหนังสือนวนิยายเลย ทั้งหมดเป็นหนังสือ non-fiction ล้วน (เอนเอียงไปในหมวดประวัติศาสตร์มากหน่อย)
.
หนังสือนิยายเรื่องเดียวที่เขาเคยอ่านคือ หนังสือของเอียน เฟลมมิง สามเล่ม คือเรื่อง เจมส์ บอนด์ 007
โดยเคนเนดี้เคยระบุไว้ในนิตยสาร Life ปี 1961 ว่า "From Russia with Love" ของเฟลมมิง เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดที่สุดของเขา
.
เฟลมมิ่งเคยรับใช้ตัวเองด้วยหน่วยข่าวกรองของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนั่นอาจจะมีส่วนที่ทำให้เคนเนดี้สนใจในนักเขียนคนนี้ก็เป็นได้
มีรายงานหนึ่งบอกว่า เคนเนดี้เคยมีโอกาสได้พบกับเฟลมมิ่งในงานเลี้ยงอาหารค่ำปี 1960 ในตอนนั้นเคนเนดี้ได้ถามนักเขียนคนนี้ไปว่าเขาจะกำจัดฟีเดล คาสโตร ผู้นำเผด็จการคิวบาซึ่งก่อปัญหาในสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้อย่างไร
เฟลมมิงบอกให้เขาเกลี้ยกล่อมคาสโตรว่า เคราของเขานั้นดึงดูดกัมมันตภาพรังสี ซึ่งอาจทำให้เขาต้องโกนหนวดและสูญเสียเอกลักษณ์จากการปฏิวัติอันโดดเด่นของเขาไป
.
นอกจากเฟลมมิ่งแล้ว เคนเนดี้ยังชื่นชมเอิร์นเนสต์ เฮมิงเวย์ มากอีกด้วย โดยระหว่างที่เขากำลังเขียนหนังสือ “Profiles in Courage” ของตัวเองในระหว่างการพักฟื้นจากการผ่าตัดปี 1954 เคนเนดี้ก็ได้อ่านเจอสำนวนหนึ่งของเฮมิงเวย์
สำนวนนั้นคือ 'ความสง่างามภายใต้แรงกดดัน' (grace under pressure.)
เคนเนดี้ต้องการที่จะใช้สำนวนนี้ในหนังสือของตนเองเพื่อยกย่องวีรกรรมที่กล้าหาญของวุฒิสมาชิกสหรัฐพรรคเดโมแครต 8 คนในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่พยายามชะลอการประกาศสงครามกลางเมืองอเมริกา
.
เคนเนดี้ได้เขียนจดหมายถึงเฮมิงเวย์เพื่อถามที่มาของวลีนี้ โดยทาง Scribner ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ของเฮมิงเวย์ได้เขียนตอบกลับมาว่า พวกเขาไม่สามารถตรวจหาคำจำกัดความของสำนวนนี้ได้
.
ท้ายที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็พิมพ์ออกมาในปี 1956 และทำให้เคนเนดี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ แต่เขากับเฮมิงเวย์ก็ไม่เคยได้พบกัน
.
ถึงกระนั้นก็ยังมีความเกี่ยวพันเล็ก ๆ ของคนทั้งสองอยู่ ในช่วงหลังจากการเสียชีวิตของเฮมิงเวย์ในปี 1961 ฝ่ายบริหารของเคนเนดีได้จัดให้แมรี--ภรรยาม่ายของเฮมิงเวย์เข้าไปในคิวบา แม้ว่าจะมีการห้ามเดินทางก็ตาม
เมื่อไปถึงที่นั่น เธอไปค้นเอกสารส่วนตัวและสิ่งของอื่นๆ จาก Finca Vigia บ้านพักตากอากาศในคิวบาของเฮมิงเวย์ ซึ่งพวกเขาได้หลบหนีออกมาในช่วงที่เกิดการปฏิวัติคิวบาของฟิเดล คาสโตร
หลังจากนั้นเธอก็ได้บริจาคเอกสารของเฮมิงเวย์ให้กับห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์เจเอฟเค ซึ่งในนั้นจะมีห้องเฮมิงเวย์อยู่ในอาคารริมแม่น้ำบอสตันของห้องสมุดเจเอฟเค
.
.
นอกจากความเกี่ยวโยงของเคนเนดี้กับเฟลมมิ่งและเฮมิงเวย์แล้ว ก็ไม่มีการพูดถึงใด ๆ อีกระหว่างตัวเคนเนดี้เองกับนักเขียนนิยายคนอื่น แม้แต่ตัวแจ็กเกอลีนเองก็ไม่เคยเห็นสามีของเธออ่านนิยายเลยตลอดช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่
.
แจ็กเกอลีนเคยพูดไว้ว่า “เขา (เคนเนดี้) มักจะมองหาบางสิ่งบางอย่างในหนังสือเสมอ – เขากำลังมองหาบางอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือบางสิ่งบางอย่างเพื่อการเจรจา หรืออะไรก็ตาม…
"ฉันคิดว่าเขากำลังมองหาบางอย่างในการอ่านของเขา เขาไม่ได้แค่อ่านเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากชีวิตประจำวันอันแสนเคร่งเครียด และเขาไม่อยากเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียว”
.
______________________________
[แผนชีวิตหลังลงจากตำแหน่ง -- ถ้าเจเอฟเคไม่ตาย]
.
เป็นเรื่องน่าสนใจเสมอมาสำหรับการตั้งสมมติฐานข้อนี้ มีคนมากมายมักถามว่า ถ้าเคนเนดี้ไม่ถูกลอบสังหารและยังมีชีวิตอยู่ สหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร หรือเคนเนดี้จะใช้ชีวิตหลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วเช่นไร
.
คำตอบนี้แม้แต่แจ็กเกอลีน ภรรยาม้ายของเคนเนดี้ก็ทำได้แต่เพียงคาดเดา
“เขาอาจจะเดินทางไปทั่วโลก เขียนหนังสือ ทำอะไรบางอย่างกับห้องสมุดของเขา และจากนั้นก็เข้าสู่เรื่องนั้นจริงๆ"
.
แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือ
เคนเนดี้จะยังคงอ่านหนังสือต่อไป
ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
.
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่านครับ
________________________________
コメント