top of page

ประวัติศาสตร์ "หนังสือ" กับชนชั้นวรรณะที่ไม่มีที่สิ้นสุด


ในปัจจุบัน "การศึกษา" เป็นสิ่งที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากแล้ว ยิ่งเป็นมาตรฐานที่ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และสื่ออย่างหนึ่งที่นำพาให้ทุกคนเท่าเทียมกันก็คือ "หนังสือ" ถึงกระนั้น หนังสือนอกจากจะเป็นเครื่องมือให้วิชาความรู้แล้ว แต่ก็ยัง "เคย" เป็นหรืออาจจะยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการแบ่งชนชั้นวรรณะก็เป็นได้จนถึงปัจจุบันก็เป็นได้

ภาพรวมในปัจจุบัน เราอาจจะมองได้ว่า ใครก็สามารถอ่านหนังสือได้ ไม่มีความแตกต่าง แต่ทว่าเรากลับมีการแบ่งชนชั้นวรรณะความคิดกันลึก ๆ เช่น ลองเปรียบเทียบมุมมองระหว่างคนที่อ่านวรรณกรรมเชิงปรัชญากับคนที่อ่านนิยายรักหวานแหววสิ ในสายตาคนภายนอก คนอาจจะมองว่า คนที่อ่านงานของวอลแตร์ดูจะมีวุฒิภาวะทางความคิดที่สูงกว่านิยายธรรมดาตามท้องตลาดหรือไม่?

หรือแค่อ่านหนังสือเยอะก็ถูกตัดสินว่าเป็นเด็กเนิร์ดแล้ว

ไม่อ่านหนังสือเท่ากับไม่ฉลาด?

หรือใครที่ไม่อ่านหนังสือของฮะรูกิ มุระคะมิ นักอ่านคนนั้นช่างเชยและตกเทรนด์หรือไม่

สิ่งนี้หลายคนอาจจะไม่ยอมรับและอาจจะดูเป็นการมองโลกในแง่ลบเกินไป แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเสียทีเดียว เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่เราใช้แบ่งแยกตัวเรากับผู้อื่นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว ไม่ว่าจะชนชาติใดในโลก

 

ในสมัยกรีก-โรมัน ไม่ใช่คนทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ถึงแม้ว่าจะมีสำนักวิชาของนักปรัชญาเมธีมากมาย แล้วทำไมถึงยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้ และเรามักจะพบว่าคนที่อ่านออกเขียนได้นั้น มักจะเป็นคนระดับสูงหรือผู้ดีมีอันจะกิน เพราะว่ากว่าจะได้เข้าเป็นศิษย์ในสำนักไหน พวกเขขาจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในราคาที่สูงลิ่วนั่นเอง

ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งวิทยาการแห่งแรกของโลก ก็ใช่ว่าใครจะเข้าใช้ได้แบบห้องสมุดประชาชน เพราะคนคนนั้นจะต้องเป็นปราชญ์ ไม่ก็ลูกศิษย์ ทำให้คนทั่วไป (โดยเฉพาะผู้หญิง) แทบจะไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนสรรพวิทยาชั้นสูงเลยแม้แต่น้อย

ในยุคกลาง ใครก็ตามที่ได้เล่าเรียนหรืออ่านออกเขียนได้มักจะมีโอกาสในการทำงานสูง ขั้นน้อย ๆ ก็คงได้เป็นเสมียนให้กับบริษัทเดินเรือสักแห่งหนึ่งในเมืองเวนิช ถ้าใครไม่รู้หนังสือก็คงเป็นได้เพียงกรรมกรแบกหามเท่านั้นเอง

เมื่อดำเนินมาถึงช่วยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การเรียนหนังสือยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้แรงงานเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนถูกนำไปใช้แรงงานตั้งแต่เด็ก หลายคนที่อยากมีชีวิตที่ดีจะตัองฝึกเรียนจากหนังสือพิมพ์เพียงแค่นั้น (ไม่ต้องฝันเลยว่าจะได้อ่านจากหนังสือ เพราะด้วยราคาที่แพง มีเพียงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึงมันได้) ในตอนนั้นเองที่มีการลักเรียนขโมยเกิดขึ้น เพราะเด็กที่ไม่ต้องทำงานก็มีแต่คนที่เกิดในชนชั้นผู้ดี

ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ในสหรัฐอเมริกา หลังจากอับราฮัม ลินคอห์นประกาศเลิกทาส คนผิวสีได้รับเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริง ทางด้านการปฏิบัติในสังคมกลับมีการแบ่งแยกชัดเจน ห้องสมุดหลายแห่งไม่ต้อนรับคนผิวสี และคนผิวสีแทบจะยืมหนังสือออกจากหอสมุดแห่งชาติไม่ได้ด้วยซ้ำ ถึงขั้นต้องมีห้องสมุดสำหรับคนผิวสีเอง (ซึ่งแน่นอนว่าหนังสือมีจำนวนน้อยนิด)

แม้กระทั่งโรงเรียนและสถานที่ทำงานยังมีการแบ่งแยก คนผิวสีไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยประจำมลรัฐเวอร์จิเนียได้จนกระทั่งถึงทศวรรศที่ 1970 เสียด้วยซ้ำ และในช่วงนั้น ก็มักจะปรากฏหนังสือหรือวรรณกรรมที่แอบอิงเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดสีผิวให้เราได้อ่านอยู่เป็นประจำ

 

ถึงแม้ว่ายุคนี้ทุกคนไม่ว่าชาติไหน ผิวสีอะไรจะสามารถเดินเข้าห้องสมุดและร้านหนังสือได้อย่างอิสระก็จริง แต่เราก็ยังคงเห็นได้ว่า "หนังสือ" คือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ด้านการแบ่งชนชั้นวรรณะอยู่ดี ซ้ำยังเป็นวรรณะทางความคิดเสียด้วยสิ

Comentarios


bottom of page