เมื่อยี่สิบปีที่แล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2540 โลกได้ทำความรู้จักกับเด็กชายผู้รอดชีวิตผ่านนักเขียนแม่หม้ายคนหนึ่งที่ชื่อว่า JK Rowling กับหนังสือที่ว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Sorcerer's Stone)"
แฮร์รี่ พอตเตอร์กลายเป็น "ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่แท้จริง (Bonafide Cultural Phenomenon)"ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและกำลังขยับขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด กล่าวคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้กลายเป็น Pop Culture ที่ปลุกกระแสความนิยมในงานวรรณกรรมเยาวชน และนิยายแฟนตาซี นอกจากนี้ยังส่งอินธิพลไปยังทุกวงการที่เวทมนตร์เข้าไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ ดนตรี และศิลปะ
แฮร์รี่ พอตเตอร์กลายเป็น "ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่แท้จริง
แฮร์รี่ พอตเตอร์ปรากฏตัวครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชนะรางวัล Smarties Award (รางวัลประจำปีสำหรับหนังสือเด็ก) และได้รับการทีพิมพ์จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ Bloomsbury นอกจากนี้ยังสร้างสถิติอันน่ามหัศจรรย์ เมื่อสามารถขายสิทธิ์การตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 105,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าหนังสือเรื่องอื่นที่ขายสิทธิ์ในต่างประเทศเวลานั้นถึง 10 เท่า
สำนักพิมพ์ Scholastic (สำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายแฮร์รี่ พอตเตอร์ในสหรัฐอเมริกา) ได้ทุ่มงบโฆษณาสำหรับพ่อมดน้อยแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างมหาศาล Scholastic ได้ลงทุนออกแบบปกแข็งสำหรับ "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์" ซึ่งถือเป็นการแหกขนบเดิม เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา หนังสือสำหรับเด็กมักจะพิมพ์เฉพาะฉบับปกอ่อนเท่านั้น
ทำไมผู้ใหญ่จึงหมกมุ่นอยู่กับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์
ถึงแม้ว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนถูกจัดให้อยู่ในประเภทหนังสือสำหรับเด็ก แต่ก็มีฐานคนอ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย และหลายคนก็เติบโตมาพร้อมกับมัน และยังคงรักในเวทมนตร์ฉบับนี้อยู่
ผลการสำรวจในปี 2012 พบว่า 55% ของนิยายวรรณกรรมเยาวชนถูกซื้อโดยผู้ใหญ่
สำหรับนักวิจารณ์บางคนนั้นก็มองว่า การที่ผู้คน (หมายถึง ผู้ใหญ่) อ่านอะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อและโง่เง่า แทนที่จะไปอ่านหนังสือที่เขียนสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ถึงกระนั้นก็คงยังมีเหตุผลสนับสนุนมากมายว่า ทำไมพวกเขาถึงเพลิดเพลินกับการติดตามชีวิตพ่อมดน้อยแฮร์รี่ พอตเตอร์นัก
แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือที่ดูเรียบง่ายและวางแผนสลับซับซ้อนในเวลาเดียวกัน เป็นมหากาพย์แฟนตาซีที่เล่าเรื่องผ่านชีวิตโรงเรียนประจำ ผลที่ได้ก็คือ ความนิยมอย่างท่วมท้นในกลุ่มผู้อ่านทุกช่วงอายุ เรื่องราวตำนานต่าง ๆ ในโลกเวทมนตร์และรูปแบบโครงสร้างโรงเรียนประจำของโรงเรียนพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ได้สร้างความอบอุ่น ความรู้สึกคุ้นเคย และเสน่ห์อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังทำให้ฉากการตายหรือการบาดเจ็บ (ของตัวละครบางตัว) สร้างผลกระทบต่อกลุ่มนักอ่านเป็นอย่างมาก
โปรดหยุดอ่านมันเสียที!
อีกสิ่งหนึ่งที่แฮร์ พอตเตอร์ได้สร้างปรากฏการณ์ทางวรรณกรรม นั่นก็คือ เด็ก ๆ ติดมันมาก จนผู้ปกครองถึงขั้นพยายามทำให้พวกเขา "หยุด" อ่านหนังสือ
นิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ก็เหมือนงานเขียนแนวแฟนตาซีอีกหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเวทมนตร์คาถา และผู้ปกครองหัวโบราณบางคนก็เคร่งครัดกับเรื่องนี้ จนแฮร์รี่ พอตเตอร์กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของสมาคมห้องสมุดอเมริกันที่ไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุดในปี 1999 (โดนแบนนั่นแหละ) และยังคงอยู่ในอันดับต้น ๆ ไปอีกหลายทศวรรษ
ในบางพื้นที่กดดันให้มีการตรวจสอบเนื้อหาในนิยายจนทำให้เกิดการฟ้องร้อง
ในปี 2003 ผู้พิพากษาได้สั่งให้โรงเรียนในเขตอาร์คันซันนำแฮร์รี่ พอตเตอร์ออกจากโรงเรียนไป เพราะมีการส่งเสริมเรื่อง "ลัทธิเวทมนตร์" และมีความพยายามที่จะกำจัดหนังสือเล่มนี้ออกไปตลอดช่วงครึ่งทศวรรษหลัง นอกจากนี้ ผู้นำศาสนาบางคนยังเตือนถึงอิทธิพลของ "ปีศาจ" อีกด้วย
แต่เรื่องเวทมนตร์ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่ถูกกล่าวหา ในปี 2007 หลังจากซีรี่ย์จบลง J.K.Rowling ได้ออกมาพูดว่า อาจารย์ใหญ่อย่าง "ศาสตราจารย์ดับเบิลดอร์" เป็นเกย์ จนนักวิชาการคริสเตียนออกมาบอกว่ามันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล แม้กระทั่งแฟน ๆ บางกลุ่มก็ยังไม่พอใจ
เรื่อง "เวทมนตร์" และ "LGBT" แน่นอนว่ามีผู้ปกครองหลายคนคิดเป็นกังวลว่าเรื่องนี้เป็นผลเสียต่อเด็ก และกลัวลูก ๆ เติบโตขึ้นมาโดยฝังหัวกับแนวคิดพวกนี้
ความนิยมของแฮร์รี่ พอตเตอร์ต่ออุสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และผลกระทบเมื่อเข้าสู่ฮอลลีวูด
มีสองเรื่องที่เห็นได้ชัด นั่นก็คือ
1. ก่อนที่จะมีแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็ก ๆ มักไม่ได้มีความสนใจที่จะใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือเป้นเวลานาน ๆ และนอกจากนี้เด็กก็ไม่ได้ซื้อหนังสือเอง ส่วนผู้ปกครองก็ไม่อยากเสียเงินเพิ่มอีกสองหรือสามครั้งสำหรับหนังสือเรื่องยาวกับหนังสือฉบับพิเศษและเรื่องต่อ ๆ ไป
แต่หลังจากที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ผลักดันวัฒนธรรมการอ่าน และเป็นที่ชัดเจนว่าแฟน ๆ จะยังคงสนับสนุนและซื้อหนังสือต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม สี่เล่มสุดท้ายของซีรี่ย์ทำให้ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสืออยู่ที่ 700 หน้าในแต่ละครั้ง
Booklist พบว่า นวนิยายระดับกลางมีอัตราการขยายตัวถึง 115.5% ระหว่างปี 2006 ถึง 2016 เป็นทศวรรษที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ออกมาเยอะที่สุด (ในปี 1996-2006 เติบโตเพียง 37.37%)
2. แฮร์รี่ พอตเตอร์สร้างวรรณกรรมเด็กขึ้นมาจากหลุมดำ เพราะก่อนหน้านี้ หนังสือสำหรับเด็กไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ทั้งยอดขายยังตกลงเรื่อย ๆ จนนักวิเคราะห์กังวลว่าเด็กจะไม่ได้อ่านหนังสืออีกต่อไป
ท่ามกลางกระแสความนิยมของแฮร์รี่ พอตเตอร์ หนังสือสำหรับเด็กอย่างอื่นที่ไม่ใช่แฮร์รี่มียอดขยายเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลาดสำหรับเด็กโดยรวมมียอดขายเพิ่มขึ้น 52% (4% ต่อปี) ในขณะที่ตลาดหนังสือโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 33% นับตั้งแต่ปี 2004
คนรุ่น Millenials เป็นกลุ่มที่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์มากที่สุด และเมื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และทำเงินได้ ทำให้นิยายยอดนิยมเรื่องอื่นแนวแฟนตาซี/วรรณกรรมเยาวชนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากขึ้น "ทไวไลท์", "The Hunger Games" หรือ "ไดเวอร์เจนต์"
ปรากฏการณ์และอิทธิพลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังมีอีก มีการแสดงออกในหมู่แฟนคลับที่คลั่งและหลงใหลในนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ตัวอย่างนึงก็คือ วงดนตรีที่ชื่อว่า Wizard Rock ซึ่งเป็นวงดนตรีร็อคบนยูทูปที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และได้รับแรงผลักดันจากแฟน ๆ ในการปรับตัวและร้องเพลงที่เกี่ยวกับตัวละครต่าง ๆ จากหนังสือ
ในปี 2005 นักศึกษาวิทยาลัยมิดเดิลเบอรีในเขตเวอร์มอนได้จัดการแข็ง "ควิดดิช" ขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตจริง และวางแผนที่จะทำเป็นกีฬาระดับอุดมศึกษาอีกด้วย
หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์กลายเป็นปรากฏการณ์ในวงการวรรณกรรมได้ไม่ใช่เพียงเพราะการประชาสัมพันธ์และงบประมาณการตลาดที่ดี (แม้ว่าจะเป้นประโยชน์) และไม่ใช่เพียงเพราะความอยากรู้และการโต้เถียงจนเป็นที่สนใจสำหรับสื่อมวลชน (แม้จะช่วยได้มากก็ตาม) หากว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์" เป็นเรื่องราวที่ผู้คนหลายล้านคนชื่นชอบ และนำพาพวกเขาเข้าสู่โลกใบใหม่และมหัศจรรย์ โลกที่พวกเขาต้องหนีเข้ามาอาศัยอยู่
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรายังคงพูดถึงหนังสือเหล่านี้อยู่ถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว
ข้อมูลที่มา:
https://www.vox.com/culture/2017/6/26/15856668/harry-potter-20th-anniversary-explained
https://www.englishforums.com/English/MeaningBonaFideCulturalPhenomenon/gqjj/post.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Nestl%C3%A9_Smarties_Book_Prize
http://www.booklistreader.com/2016/02/29/childrens-literature/middle-grade-novels-have-gotten-173-longer-over-the-last-40-years/