top of page

8 เรื่องราวน่าสนใจวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ปี 2016

หลังจากเข้าสู่ปี 2017 เพียงไม่นาน ผมคอยเฝ้าจินตนาการต่อไปว่าตลอดไปอีก 365 วันในปีนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นกับวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์บ้าง เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อเกิดทั้งเรื่องเศร้าคละเคล้าเรื่องดีผสมกัน ผมจึงอยากขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจ "บางอย่าง" ที่เกิดขึ้นในปี 2016 มารวบรวม สรุป และบอกเล่าให้ทุกคนได้ย้อนรำลึกกัน

1. ฺBig Bad Wolf

มหกรรมหนังสือลดราคาระดับโลก ที่เริ่มต้นจากร้านหนังสือสัญชาติมาเลเซียชื่อ BookXcess ที่ตระเวณไปตามเมืองใหญ่ของโลกในทุก ๆ ปี นำหนังสือใหม่และเก่ามาลดราคากว่า 75-95% จากหลากหลายทั่วมุมโลก โดย Big Bad Wolf 2016 นี้ได้มาจัดที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร นั่นเอง

2. จุดตกต่ำของนิตยสารไทย

ปีนี้อาจจะเป็นปีที่เรียกได้ว่า "ย่ำแย่" ที่สุดของวงการนิตยสารปีนึงเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นปีที่มีการปิดตัวของนิตยสารหลายหัว โดยเฉฑาะนิตยสารเก่าแก่ที่อยู่เคียงข้างคนไทยมานานอย่าง "สกุลไทย" หรือ "พลอยแกมเพชร" ไม่ก็ปรับตัวเปลี่ยนจากนิตยสารรายสัปดาห์มาเป็นรายปักษ์หรือรายเดือน ด้วยสาเหตุเป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปเสพคอนเทนต์ออนไลน์ที่ทันสมัยกว่า รวดเร็วกว่า สะดวกกว่า และโฆษณาที่พากันลงทุนในนิตยสารก็น้อยลง

3. #จินยองอ่าน พาคนไทยอ่าน

ในสถานการณ์ภาวะซบเซาของวงการสิ่งพิมพ์ ประกอบกับบรรยากาศความโศกเศร้าของคนไทยเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย ทำให้มหกรรมแห่งชาติครั้งที่ 22 ประสบภาวะอึมครึมเป็นอย่างมาก

ทว่าในขณะเดียวกันก็เกิดกระแส #จินยองอ่าน (อ่านรายละเอียดที่ #จินยองอ่าน) ขึ้นในโลกโซเชียล เมื่อติ่งเกาหลีแฟนคลับ "จินยอง" สมาชิกวง GOT7 ผู้ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนอนหนังสือคนหนึ่ง คราวนี้ทำให้แฟนคลับต่างตามเก็บหนังสือที่เขาอ่าน และอ่านตามศิลปินเกาหลีผู้นี้ ทำให้บรรดาร้านหนังสือและสำนักพิมพ์มีชีวิตชีวา ใจชื้นขึ้นมามากเลยทีเดียว

4. อมรินทร์น้ำเมา

ด้วยสถานการณ์ที่ต้องประสบภาวะขาดทุนมาอย่างยาวนาน ทำให้บริษัท อมรินทร์ปริ้นติ้ง เจ้าของเครือสำนักพิมพ์ นิตยสาร และร้านหนังสือนายอินทร์ จำต้องเพิ่มทุนบริษัท และขายหุ้นให้กับยักษ์ใหญ่น้ำเมาเจ้าของเบียร์ช้างไป สาเหตุหลักก็คงเป็นเรื่องของดิจิตอลทีวีที่ไม่สามารถทำกำไรได้อย่างที่หวัง ประกอบกับค่าสัมปทานจำนวนมหาศาลนั่นเอง

5. สำนักพิมพ์ใหม่สองสัญชาติ ไทย-ญี่ปุ่น "PHOENIX"

อมรินทร์จับมือกับสำนักพิมพ์คาโดคาวะจากประเทศญี่ปุ่น เปิดตัว สำนักพิมพ์ใหม่ในชื่อ "PHOENIX" ได้สร้างกระแสวรรณกรรมญี่ปุ่นกึ่งป๊อปคัลเจอร์ อย่าง Your Name ที่โด่งดังเป็นอย่างมาก ทั้งฉบับหนังสือและอนิเมชั่น ทำให้วรรณกรรมแนวนี้ได้รับความนิยม และขายดีตามกันไป

6. ปีแห่งกวีนิพนธ์

รางวัลซีไรต์ปี 2559 ได้ตกเป็นของหนังสือประเภทกวีนิพนต์อย่าง "นครคนนอก" ของพลัง เพียงพิรุฬห์

7. กำเนิด 3 ร้านหนังสืออิสระใหม่

ในขณะที่รายใหญ่ในวงการหนังสือต่างประสบปัญหาขาดทุน บ้างต้องปิดตัวกันลงไป กลับมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาท้าโลกด้วยการเปิดร้านหนังสือ เริ่มจาก ร้านหนังสือออนไลน์อย่าง "Paper Yard Books" ที่ผู้มีความโดดเด่นในเรื่องเว็บไซต์ที่สวยงามและการนำเสนอ , "Fathom Bookspace" ร้านหนังสือที่มีแนวความคิดในการเปลี่ยนธีมทุกสองเดือน และ "สมมติ&the Object" ร้านหนังสืออิสระสำหรับนักอ่านสายแข็ง ที่ขายหนังสือที่ไม่นิยมอ่าน แต่ควรอ่าน

8. คนหนังสือร่วมใจถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9

เนื่องในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แน่นอนว่ามันได้นำความโศกเศร้าเสียใจมาให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในวงการสิ่งพิมพ์ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความสามัคคีกันด้วย "พลังใจ" ล้วน ๆ ด้วย "ความรัก" และ "ภักดี" ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ นิตยสารหลายหัวไม่เพียงแค่ทำหนังสือเกี่ยวกับพระองค์หรือนำพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์ขึ้นปกเท่านั้น แต่ยังนำเสนอเรื่องราวของพระองค์ให้คนไทยได้รู้หลายเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครรับรู้รับทราบ

เป็นที่น่าปลื้มปิติใจ และภูมิใจยิ่งนักที่ได้เกิดมาในรัชกาลของพระองค์

bottom of page