- ผู้เขียน: Alice Munro
- ผู้แปล: อรจิรา โกลากุล, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
- บรรณาธิการ: อัญชลี มณีโรจน์
- บรรณาธิการแปล: นันทพร โพธารามิก
- สำนักพิมพ์: บทจร
- จำนวนหน้า: 352 หน้า ปกอ่อน
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — มีนาคม 2559
- ISBN: 9786169183341
สุดชีวิต
สุดชีวิต (Dear Life) เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มสุดท้ายของแอลิซ มันโร (Alice Munro) นักเขียนชาวแคนาดา ก่อนที่เธอจะประกาศเกษียณอายุจากการเขียนหนังสือในปี 2013 หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 14 เรื่อง โดยที่ 4 เรื่องสุดท้ายมันโรแยกมันออกมาเป็น “ปัจฉิมบท” และได้เขียนบอกผู้อ่านไว้ด้วยว่า
"งานสี่ชิ้นสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเล่าเสียทีเดียว งานเหล่านี้ประกอบกันเป็นหน่วยแยกออกมา เป็นอัตชีวประวัติเชิงอารมณ์ แม้ไม่อาจนับเป็นอัตชีวประวัติได้ทั้งหมดในเชิงข้อเท็จจริง ฉันเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งแรกและสิ่งสุดท้าย รวมถึงสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดที่ฉันจะพูดเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง"
รวมเรื่องสั้น สุดชีวิต หรือ Dear Life นี้ ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2012 โดยมันโรประกาศว่าเป็นผลงานเล่มสุดท้ายของตัวเธอ ซึ่งจะเกษียณอายุจากงานเขียนในเดือนมิถุนายน 2013
แอลิซ มันโร (Alice Munro) เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1931 ในเมืองวิงแฮม รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา แม่ของเธอเป็นครู ส่วนพ่อทำฟาร์มสุนัขจิ้งจอกและตัวมิงค์ หลังจบชั้นมัธยมปลาย มันโรศึกษาต่อด้านวารสารศาสตร์และภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ทว่าเลิกเรียนกลางคันเพื่อแต่งงานกับ James Munro เพื่อนนักศึกษา ในปี 1951 ต่อจากนั้น เธอและสามีย้ายไปอยู่ที่เมืองวิคตอเรีย รัฐบริติชโคลัมเบีย ที่ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันเปิดร้านหนังสือชื่อ Munro’s Books เธอมีลูกสาว 4 คน โดยคนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด มันโรหย่ากับสามีคนแรกในปี 1972 และย้ายกลับไปอยู่ที่รัฐออนแทรีโอ โดยได้รับเชิญไปสอนช่วงสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ที่ซึ่งเธอเคยเป็นนักศึกษานั่นเอง ต่อมาในปี 1976 มันโรแต่งงานอีกครั้งกับ Gerald Fremlin นักภูมิศาสตร์ ผู้ซึ่งเธอรู้จักตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันของมันโรในเมืองคลินตัน ใกล้บ้านเกิดของมันโรทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทรีโอ Fremlin เสียชีวิตในปี 2013
มันโรเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่วัยรุ่น เรื่องสั้นของเธอตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ทว่ากว่าที่หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอ Dance of the Happy Shades จะได้ตีพิมพ์ก็ต้องรอจนถึงปี 1968 เมื่อเธออายุ 37 ปีแล้ว ต่อมาในปี 1971 หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่สอง Lives of Girls and Women ตีพิมพ์ตามมา และนักวิจารณ์เรียกมันว่า Bildungsroman หรือแนววรรณกรรมที่แสดงให้เห็นกระบวนการเติบโตและเรียนรู้ของตัวเอกทั้งในเชิงจิตวิทยาและมโนสำนึก
มันโรได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถในการเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนกระทบใจ ฉายให้เห็นความจริงอันสลับซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ นักวิจารณ์บางคนเปรียบเธอว่าเป็น “เชคอฟของแคนาดา” เรื่องเล่าของเธอมักมีฉากเป็นเมืองเล็กๆ ที่ซึ่งตัวละครต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการยอมรับทางสังคม บ่อยครั้งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและความขัดแย้งทางศีลธรรม ปมปัญหามักเกิดจากความแตกต่างระหว่างคนต่างรุ่นและการปะทะกันของความทะยานอยากในชีวิต แม้ตัวบทจะบรรยายภาพชีวิตประจำวัน ทว่าภาพนั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดชี้ขาดชนิดที่เผยแสดงเรื่องราวแวดล้อมทั้งหมด แล้วปล่อยให้คำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิตวาบขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในใจของผู้อ่าน
แอลิซ มันโรได้รับรางวัลต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน รวมถึงรางวัล The Man Booker International Prize ในปี 2009 ส่วนเกียรติยศสูงสุดคือได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2013 โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็น “นักเขียนเรื่องสั้นร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่”