- ผู้เขียน: ฟื้น ดอกบัว
- สำนักพิมพ์: ศยาม
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — ธันวาคม 2559
- ISBN: 2020010010019
รวมชุดปวงปรัชญา : กรีก อินเดีย จีน
"ปวงปรัชญากรีก" ผู้เขียนมีหน้าที่สอนวิชาศาสนาและวิชาปรัชญาทั้งตะวันออก ตะวันตกในมหาวิทยาลัยศิลปากรมาหลายปี ได้มีความตั้งใจมานานแล้วเกี่ยวกับปรัชญาตะวันตกว่าน่าจะเขียนหนังสือปรัชญากรีกขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง เพราะคำนึกถึงว่าปรัชญากรีกมีเนื้อหาสาระทั้งกว้างทั้งลึกาครอบคลุมแทบทุกศาสตร์ เป็นแม่บทใหญ่หรือเป็นรากฐานแห่งวิชาปรัชญาตะวันตกทั้งหลาย ไม่ว่าสมัยถัดมา หรือแม้สมัยปัจจุบันดังนั้นการศึกษาวิชาปรัชญาตะวันตก ไม่ว่าสมัยไหน ก็ควรจักได้ศึกษาปรัชญากรีกด้วย มิฉะนั้นก็เสมือนว่ายังไม่ได้ศึกษาปรัชญาอย่างแท้จริง เพราะการศึกษาปรัชญากรีกจะช่วยให้เข้าใจปรัชญาอื่นได้ง่ายและลึกซึ้งขึ้น หรือหากได้ศึกษาปรัชญากรีกจนเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ก็เสมือนว่าได้ศึกษาปรัชญาสมัยอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าปรัชญาตะวันตกสมัยไหนก็ล้วนแต่อาศัยปรัชญากรีกเป็นแนวทาง หรือมิฉะนั้นแนวคิดของนักปรัชญานั้นๆ ก็มักมีอยู่แล้วในปรัชญากรีก
"ปวงปรัชญาอินเดีย" อินเดียเป็นประเทศที่ได้นามว่า แดนดินถิ่นปรัชญา เพราะมีปรัชญาสาขาต่าง ๆ อยู่มากมาย อีกทั้งปรัชญาอินเดียก็เป็นปรัชญาระดับโลก มีเนื้อหาที่กว้างไพศาลและลุ่มลึกยิ่งนัก ปรัชญาต่างๆ ทั่วโลกบรรดามีจะหาพบได้ในปรัชญาอินเดียนอกจากนี้ ปรัชญาอินเดีย ยังได้มีอิทธิพลต่อชาวเอเชียอย่างใหญ่หลวงเพราะทุกประเทศต่างก็ได้รับอิทธิพลปรัชญาอินเดียอยู่ด้วยกันทั้งนั้น จะต่างก็แต่มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น แม้แต่ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งปรัชญาสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง ก็ยังได้รับอิทธิพลของปรัชญาอินเดียเป็นอย่างมากนั่นก็คือ พระพุทธศาสนา จนพระพุทธศาสนาได้รับเกียรติว่าเป็นประทีปแห่งทวีปเอเชียอีกทั้งในปัจจุบันกำลังทอแสงในทวีปอื่นอีกด้วย ดังนั้นการศึกษาปรัชญาต่างๆ หากยังไม่ได้ศึกษาปรัชญาอินเดีย ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้ศึกษาปรัชญาอย่างแท้จริง
"ปวงปรัชญาจีน" เมื่อผู้เขียนได้รับผิดชอบสอนวิชาปรัชญาจีนอีกวิชาหนึ่ง อีกทั้งได้คำนึงมานานแล้วว่า ปรัชญาจีนนั้นมีความสำคัญมากสาขาหนึ่งของโลก ชาวเอเชียโดยเฉพาะคนจีนได้รับสิทธิพลจากปรัชญาจีนเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจเขียน ปวงปรัชญาจีน ขึ้นมา ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีประชากรมากที่สุดในโลก จีนจึงมีวัฒนธรรมและอารยธรรมที่น่าศึกษาน่าสนใจอยู่มากมาย โดยเฉพาะก็ในด้านปรัชญาจีนมีนักคิดนักปรัชญาอยู่มาก ปรัชญาจีนทั้งหมดต่างช่วยกันหล่อหลอมจิตใจชาวจีนให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมาในเวทีโลก เพราะความจริงมีอยู่ว่า ศาสนาและปรัชญาเป็หัวใจของคนในชาตินั้นๆ ด้วยเหตุนี้การที่จะเข้าถึงจิตใจชาวจีนก็จะต้องศึกษาปรัชญาของจีน ดังที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า วิถีที่แน่นอนที่สุดในการเข้าถึงจิตใจของประชาชาตินั้น ๆ จะต้องเข้าทางศาสนาหรือปรัชญาของเขา
จุดมุ่งหมายของการเขียน ปวงปรัชญาจีน ก็เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษา ตลอดทั้งผู้สนใจทั้งหลายด้วย เพราะคนไทยโดยทั่วไปแทบจะไม่มีความรู้ปรัชญาจีนเลย ที่ได้ยินอยู่บ้างก็เฉพาะปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น แต่ครั้งเขียนเข้าจริงก็มีปัญหามาก เพราะตำรับตำราปรัชญาจีนในภาษาไทยมีอยู่น้อยมาก ครั้นหันไปอาศัยฉบับภาษาอังกฤษก็มีไม่สู้มากนักในประเทศไทย ทั้งภาษาอังกฤษก็มีเรื่องยุ่งยากในเรื่องวิสามัญนาม เพราะสำเนียงภาษาจีนยากที่จะสะกดได้ในภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ อีกทั้งคนจีนก็มีหลายก๊กหลายเหล่า และแต่ละเหล่าต่างก็พูดไม่เหมือนกัน แม้จะออกเสียงในศัพท์เดียวกันก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นอาจมีผู้ใช้วิสามัญนามเพี้ยนไปจากฉบับนี้ก็อาจเป็นได้ จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนี้นัก