- ผู้เขียน: ชัยธวัช ตุลาธน
- สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน
- จำนวนหน้า 414 หน้า
- พิมพ์ครั้งที่ 1 - 2557
- ISBN: 9786167667287
พระพรหมช่วย อำนวย ให้ชื่นฉ่ำ
พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ: เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475 เล่มนี้ เป็นหนังสือชุด “กษัตริย์ศึกษา” ลำดับที่ 2 ของสำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” ซึ่งพยายามรวบรวมงานศึกษาที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากเราเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจสังคมไทยอย่างถึงรากโดยละเลยองค์ความรู้เรื่อง สถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าเราจะมีทัศนะต่อบทบาทหรือการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อย่างไร
10 ปีให้หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 นิตยสาร Forbes ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งติดตามจัดอันดับความร่ำรวยของเศรษฐีทั่วโลก ได้จัดอันดับกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (The World’s Richest Royals) เป็นครั้งแรก ปรากฏว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านแห่งประเทศบรูไน เป็นกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สิน 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทยร่ำรวย ติดอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าเพียงหนึ่งปีต่อมากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตามการสำรวจของนิตยสาร Forbes เจ้าเดิม กลายเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ก้าวกระโดดขึ้นสู่อันดับ 1 ด้วยทรัพย์สินรวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 และ 2553 ในหลวงของเราก็ครองอันดับ 1 อีกด้วยจำนวนทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลของการจัดอันดับดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับพระราช ทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เองจะออก มาชี้แจงว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์ซึ่งนิตยสาร Forbes นำมาคำนวณเป็นทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยนั้น เป็นทรัพย์สินของรัฐหรือของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล หาได้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้สถานะของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับ Crown Property ของกษัตริย์โดยทั่วไปในนานาอารยประเทศ ซึ่ง Forbes ก็มิได้นำมาคิดในการจัดอันดับกษัตริย์ของประเทศอื่น
แต่คำชี้แจงของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกระทรวงต่างประเทศ ก็ไม่สามารถตอบข้อสงสัยและข้อโต้แย้งที่ยังมีอยู่อีกมาก
อันที่จริง ก่อนหน้าที่ประเด็นเรื่องพระราชทรัพย์จะกลายเป็นที่สนใจใคร่รู้อย่างใน ปัจจุบัน ก็ยังพอจะมีงานศึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับพระคลังข้างที่ แต่ก็พูดได้ว่ายังไม่มากพอ
ชิ้นสำคัญที่ศึกษา “พระคลังข้างที่” โดยตรง ได้แก่ งานของทวีศิลป์ สืบวัฒนะ เรื่อง “บทบาทของกรมพระคลังข้างที่ต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจในอดีต (พ.ศ. 2433-2475)” ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2528) และวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2529 ของชลลดา วัฒนศิริ เรื่อง “พระคลังข้างที่กับการลงทุนธุรกิจในประเทศ พ.ศ. 2433-2475″ ซึ่งภายหลังชลลดาได้เขียนบทความชื่อ “สำนักงานพระคลังข้างที่กับการลงทุนธุรกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2433-2475” ตีพิมพ์ใน วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2531) หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีงานศึกษาเกี่ยวกับพระคลังข้างที่ที่ดีกว่า ผลงานของชลลดา วัฒนศิริ
ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” นั้น งานชิ้นแรกที่ควรกล่าวถึง แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตรง คืองานของสุพจน์ แจ้งเร็ว เรื่อง “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2545) งานชิ้นนี้ได้ให้ภาพของปัญหาว่าด้วยพระราชทรัพย์ในช่วงรอยต่อทางการเมือง หลังการปฏิวัติ 2475 ใหม่ๆ และกล่าวได้ว่างานชิ้นนี้เป็นงานบุกเบิกที่กระตุ้นให้หลายคนหันมาสนใจค้น คว้าเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หลัง 2475 เพิ่มเติม
จากนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลก็ได้ส่ง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร?” มาตีพิมพ์ลง ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2549) บทความชิ้นนี้เป็นงานที่เริ่มต้นศึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยตรง (หากไม่นับรวมงานเขียน “ใต้ดิน” ของซ้ายไทยในทศวรรษ 2520) สมศักดิ์ได้ค้นคว้าเอกสารจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับสถานะ ที่แท้จริงของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งจะโยงไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ สถานะของสถาบันกษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เป็น ปฏิปักษ์ปฏิวัติ
ในปีเดียวกัน มีการเผยแพร่ผลงานในชุดโครงการวิจัยเรื่อง “โครงสร้างและพลวัตทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งมี ศ. ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ โดยรวมเล่มตีพิมพ์ในชื่อ การต่อสู้ของทุนไทย: การเมือง วัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอด (มติชน, 2549) จำนวน 2 เล่ม งานวิจัยหนึ่งในนั้นคืองานของพอพันธ์ อุยยานนท์ เรื่อง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ” ซึ่งเป็นงานวิชาการชิ้นแรก (และชิ้นเดียวจนถึงวันนี้) ที่ศึกษาบทบาทของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเศรษฐกิจไทยได้อย่างครอบคลุม ทั้งในแง่มิติทางประวัติศาสตร์และในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสำนักงาน ทรัพย์สินฯ
ต่อมา ปราการ กลิ่นฟุ้งได้เขียนเรื่อง “เก็บภาษีมรดกในประเทศสยาม: ความเป็นมาของการตราพระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช 2476” ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2550) งานของปราการให้ภาพในรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า หลัง 2475 กระบวนการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร นั้น เริ่มต้นตรงที่จุดไหน อย่างไร และปฏิกิริยาจากราชสำนักเป็นเช่นไร ปีถัดมา เราได้เห็นผลงานของภารุต เพ็ญพายัพ เรื่อง “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร?: พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในบริบททางประวัติ ศาสตร์” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2551) ที่ต่อยอดจากผลงานของสุพจน์ สมศักดิ์ และปราการ ไปถึงกระบวนการและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อันนำไปสู่การตรากฎหมายจัด ระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 กระทั่งความพลิกผันทางการเมืองทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกแก้ไขจนมี “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อย่างที่เรา (ไม่) รู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว ในทางนิติศาสตร์ยังมีวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องอีก 2 ชิ้น ได้แก่ “การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” (2543) โดยสกุณา เทวะรัตน์มณีกุล และ “ความเป็นมาและปัญหาสถานะทางกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” (2552) โดยกิตติศักดิ์ อุไรวงศ์
หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเอางานที่กล่าวถึงข้างต้นส่วนหนึ่ง ได้แก่ งานของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, พอพันธ์ อุยยานนท์, ปราการ กลิ่นฟุ้ง, และภารุต เพ็ญพายัพ ซึ่งผ่านการแก้ไขและ/หรือปรับปรุงใหม่ มาตีพิมพ์รวมกัน และเพิ่มเติมงานของพรเพ็ญ ฮั่นตระกูล เรื่อง “การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468)” เข้ามาอีกชิ้นหนึ่ง บทความของพรเพ็ญนั้น มาจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2517 ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวกับพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดย ตรง แต่ก็มีความสำคัญเพื่อทำความเข้าใจภาพรอยต่อระหว่างยุคปฏิรูปการคลังในสมัย รัชกาลที่ 5 อันเป็นจุดกำเนิดของกรมพระคลังข้างที่ กับยุคสมัยที่เป็นบั้นปลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สำนักพิมพ์เองยังได้เขียน “บทนำ” อีกชิ้นหนึ่ง เพื่อหวังจะปูพื้นความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นว่าด้วยพระราช ทรัพย์ก่อนและหลัง 2475 รวมทั้งได้รวบรวมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำพิพากษาศาลฎีกา ไว้เป็นภาคผนวกท้ายเล่มด้วยเพื่อความสะดวกในการค้นคว้า
“ฟ้าเดียวกัน” หวังว่า ในอนาคตจะมีงานศึกษาใหม่ๆ ที่มีคุณภาพเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ออกมาเพิ่มเติมอีก ซึ่งองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันถือได้ว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น เรายังขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ในอีกหลายๆ เรื่อง อาทิเช่น บทบาทการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540, ความสัมพันธ์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับเศรษฐกิจการเมืองระหว่าง ประเทศ, รายละเอียดของการสะสมทุนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในบริบทเศรษฐกิจการ เมืองแต่ละยุคสมัย, บทบาทของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ, ความสัมพันธ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ กับกลุ่มทุนต่างๆ ของไทยและต่างประเทศ, ประเด็นทางกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับสำนักงานทรัพย์สินฯ, การใช้จ่ายเงินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของราชสำนัก, ที่มา รายรับรายจ่าย และการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ รวมไปถึงเงินที่มีผู้ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ฯลฯ