- ผู้เขียน: หนุ่ม หนังสือเดินทาง
- สำนักพิมพ์: พารากราฟ
- จำนวนหน้า: 208 หน้า
- พิมพ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) 4 สี ทั้งเล่มเข้าเล่ม ปกแข็ง และสันหนังสือเป็นผ้า
- พิมพ์ครั้งที่ 1 — เมษายน 2563
- ISBN: 9786165680813
A Great Little Place Called Independent Bookshop
“เป็นไปได้ไหมที่จะเอาสิ่งที่เรารักเป็นอาชีพ
แล้วทำให้มันดูแลเราได้ในเชิงเศรษฐกิจ
และทำให้ผู้คนรอบตัวเรามีความสุขกับมันไปด้วย”
คำถามนี้ สำหรับผม มีคำตอบรูปธรรมออกมาเป็นร้านหนังสือ
อันที่จริงไม่จำเป็นต้องเป็นร้านหนังสือก็ได้
เผื่อพวกเราจะลงมือทำบ้าง ...ทำอะไรก็ได้
อาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ แต่ทำจากความรักที่เรามีต่อสิ่งนั้น
ทำให้มันมี “มูลค่า” ดูแลเราได้ในเชิงเศรษฐกิจ
และมี “คุณค่า” เกื้อกูลให้คนที่พบเห็นมีความสุขไปพร้อมกัน
อย่าเพิ่งกังวลว่า...เมื่อทำขึ้นมาแล้วจะไม่มีคนชอบ
หรือเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำอยู่ หากเราทำได้ดี
เชื่อได้ว่ามีแน่นอน เหตุที่เรายังไม่เจอพวกเขา
เป็นเพราะเรายังไม่ทำมันขึ้นมา
มีสองคำถามในระยะที่ผ่านมา การมีสถานะเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระทำให้มีโอกาสได้ยินบ่อย
หนึ่งคือ “เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้วนี่?”
และสอง “รู้สึกหมดไฟ ทั้งยังไม่รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร มีหนังสือที่ให้กำลังใจบ้างไหม? ”
คำถามแรกมักมาจากหลายคนที่บังเอิญพรวดเข้ามาในร้าน บ้างก็เจอกันข้างนอก บางคนยังถามด้วยห่วงจากใจจริงและด้วยข้อมูลที่มีว่า “ร้านหนังสือไม่มีอนาคตแล้วไม่ใช่หรือ?”
.
ส่วนคำถามหลังมักมาจากน้อง บางครั้งก็พี่ เขาเหล่านี้เข้ามาในร้านด้วยตั้งใจหาหนังสือไปอ่าน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือหนังสือที่จะทำให้เขาสนุกและมีความสุขกับชีวิตอีกครั้ง ทั้งที่หลายคนก็มีการงานทำอยู่ ทั้งที่บางคนก็เปิดเผยเลยว่าอายุ 50 กว่าเข้าไปแล้ว
เมื่อร้านหนังสือของตัวเองยังคงอยู่ ยังอยู่ได้ และตัวเองยังสนุกที่จะทำร้านหนังสือต่อไป การเจอคำถามนี้บ่อยๆ ทำให้ผมต้องคิดอย่างจริงจัง
.
“ไม่มีคนอ่านหนังสือกันแล้วนี่ ร้านหนังสือหมดอนาคตแล้วไม่ใช่หรือ?” ผมพบว่าคำกล่าวนี้ไม่จริง คนที่ยังอ่านหนังสือนั้นมี และร้านหนังสือยังอยู่ได้ด้วย เพียงแต่ต้องรู้ว่าจะอยู่ด้วยวิธีใด
ส่วนประเด็นเรื่องไม่มีความสุขในชีวิต ไม่รู้จะอยู่เพื่ออะไร ผมพบว่าเราจะไม่เจอปัญหานี้เลย ถ้าค้นพบบางอย่าง บางอย่างซึ่งมาก่อนและสำคัญกว่าการเปิดร้านหนังสือเสียด้วยซ้ำ
สิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นสองบทความที่กล่าวถึงสิ่งเหล่านั้น มันถูกกลั่นมาจากประสบการณ์ตรง เพื่อหาคำอธิบายที่แท้จริง ให้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน แม้จะเป็นเรื่องราวของร้านหนังสือ แต่แก่นแกนของมันสากลพอที่จะทำให้เรากล้าคิดฝัน หรือนำมันไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพอื่นๆ
บางบทบางตอน บางคนอาจเคยผ่านตา เมื่อทางสำนักพิมพ์สนใจอยากพิมพ์ ผมเสนอให้ทำเป็นสองภาษาซึ่งสำนักพิมพ์ได้ให้เวลาผมแปลเป็นภาษาอังกฤษ เหตุผลเพราะการทำร้านหนังสือให้อยู่รอดในยุคที่หลายคนเชื่อว่าไม่มีใครอ่านหนังสือแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีแต่นักอ่านไทยสนใจ ขณะการค้นให้พบบางสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ว่ายุคไหนหรือเกิดที่ไหนต่างต้องหาให้เจอ หาเจอแล้วก็จะพบพลังและมีความสุขกับสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่เฉพาะแค่การทำร้านหนังสือเท่านั้น
สิ่งนั้นคืออะไร มันถูกพูดถึงไว้แล้วในหนังสือเล่มนี้
— หนุ่ม หนังสือเดินทาง